การตรวจบ้านก่อนรับโอน EP.4 ตรวจระบบสุขาภิบาล

Facebook Twitter Email
การตรวจรับบ้าน ตอนที่ 4 การตรวจสอบระบบสุขาภิบาล การตรวจสอบระบบสุขาภิบาล เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายในบทความนี้ ระบบสุขาภิบาลเราขออธิบายเป็นระบบน้ำภายในบ้าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ประกอบด้วยน้ำดี(น้ำประปา)และน้ำเสียภายในบ้าน ซึ่งวิธีการตรวจสอบมีดังนี้

ระบบน้ำประปา
1.ตรวจสอบมิเตอร์น้ำ ทำได้โดยการปิดน้ำทั้งหมดภายในบ้าน เช่น ก๊อกภายในห้องน้ำ ห้องครัว หรือก๊อกสนามถ้าหากมิเตอร์น้ำยังวิ่งอยู่ แสดงว่าอาจจะเกิดการรั่วของน้ำได้ ในแจ้งทางโครงการให้ทำการแก้ไข

2. การตรวจสอบอุปกรณ์ก๊อกน้ำ และเครื่องสุขภัณฑ์ต่างๆ ให้ทำการเปิดน้ำจากก๊อกทุกจุดภายในบ้าน รวมถึงก๊อกสนามเพื่อดูการทำงาน น้ำต้องไหลสม่ำเสมอ อุปกรณ์ก๊อกน้ำมีความแข็งแรง ไม่เป็นคราบสนิม หากอุปกรณ์ก๊อกทำงานไม่ปกติ น้ำไม่ไหล ให้แจ้งทางโครงการเพื่อมาแก้ไข
3.ตรวจสอบความจุของถังเก็บน้ำ (Water Tank) พิจารณาได้ดังนี้ จำนวน 5-6 คน ควรใช้ถังเก็บน้ำที่มีความจุประมาณ 1,200 ลิตร จำนวน 7-8 คน ควรใช้ถังน้ำที่มีความจุประมาณ 1,600 ลิตร นอกจากพิจารณาขนาดของถังน้ำให้เหมาะสมกับจำนวนผู้พักอาศัยแล้ว ก็ต้องตรวจเช็คสภาพของถังเก็บน้ำไม่ให้มีรอนรั่วซึม หรือมีคราบสนิมอีกด้วย

4. การตรวจสอบแรงดันปั๊มน้ำภายในบ้าน ในเปิดน้ำทุกก๊อกภายในบ้านพร้อมกัน แล้วสังเกตการณ์ไหลของน้ำให้มีความสม่ำเสมอ ถ้าไหลเบาเกินไปให้แจ้งทางโครงการเพื่อทำการปรับแรงดันน้ำของปั๊มน้ำ
ระบบน้ำทิ้ง
ระบบน้ำทิ้งในที่นี้ หมายถึง น้ำเสียที่เกิดจากการห้องน้ำไม่ว่าเป็นอาบน้ำ หรือการขับถ่าย หรือจะเป็นน้ำเสียจากครัว เช่น อ่างล่างจาน เป็นต้น

1. ระบบน้ำทิ้งภายในบ้านมีอยู่ด้วยกันหลายจุด เช่น รูระบายน้ำทิ้งในห้องน้ำ อ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า ในห้องครัว อ่างล้างชาม รวมไปถึงจุดระบายน้ำบริเวณระเบียง หรือบริเวณซักล้างและถังบำบัดน้ำเสีย (Waste water Tank) การตรวจสอบระบบระบายน้ำเสีย ทำได้เบื้องตอนโดยการ ตรวจดูรูระบายน้ำ หรือท่อระบายน้ำ ว่าระบายน้ำได้ดีหรือไม่ ไม่มีสิ่งอุดตัน หากพบสิ่งอุดตันให้รีบแก้ไข
2. นอกจากรูระบายน้ำแล้วอีกสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ทิศทางการไหลของน้ำและความลาดเอียงของการรางระบายน้ำ โดยพื้นที่ที่ต้องสังเกตการณ์ลาดของพื้นที่เพื่อระบายน้ำนั้น คือ บริเวณห้องน้ำและระเบียง ทำได้โดยการเทน้ำ น้ำต้องไหลลงท่อระบายได้สะดวก รวดเร็ว ไม่เป็นแอ่งน้ำขัง หากทดสอบแล้วมีแอ่งน้ำขังภายในห้องน้ำหรือระเบียงน้ำไม่ไหลลงรูระบายหรือท่อระบายให้แก้ทางโครงการเพื่อให้แก้ไข Slope ของพื้นห้องน้ำหรือพื้นระเบียงต่อไป
3. สังเกตท้องพื้นบริเวณใต้พื้นห้องน้ำ หรือท้องพื้นบริเวณใต้ระเบียงชั้นสอง รวมไปถึงท่อและข้อต่อต่างๆภายในบ้าน มีน้ำซึม รั่ว หรือหยดลงมายังพื้นชั้นล่างหรือมีน้ำซึมออกมาตามท่อ ให้แจ้งทางโครงการให้รีบเข้ามาแก้ไข

4. การตรวจสอบอ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า อ่างล้างชาม ให้ทดสอบด้วยการปิดสะดืออ่าง แล้วปล่อยน้ำให้เต็มจนน้ำนั้นล้นออกทางช่องน้ำล้นของอ่างนานประมาณ 1 นาทีเพื่อตรวจสอบระบบป้องกันน้ำล้นของอ่าง หลังจากนั้น จึงเปิดสะดืออ่างออกและตรวจสอบการไหลออกของน้ำว่าสามารถไหลออกได้สะดวกหรือไม่ ถ้าน้ำไหลออกช้าและมีฟองอากาศผุดขึ้นมา แสดงว่าอาจเกิดปัญหาที่ระบบท่ออากาศหรือไม่ได้มีการติดตั้งท่ออากาศหากน้ำไหลช้าแต่ไม่มีฟองอากาศผุดออกมาอาจสันนิษฐานว่าอาจมีสิ่งแปลกปลอมไปอุดตันในท่อ สามารถแจ้งทางโครงการให้มาแก้ไขให้ได้

5.การตรวจสอบชักโครกหรือโถส้วม ก่อนทำการทดสอบ ให้ราดน้ำที่พื้นบริเวณรอบฐานชักโครกหรือโถส้วม ถ้ามีฟองอากาศผุดออกมา อาจเป็นไปได้ว่าการติดตั้งโถส้วมบริเวณฐานนั้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน ซึ่งจะก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นย้อนขึ้นมารบกวนภายในห้องน้ำ จากนั้นให้ทดลองใช้งานชักโครกหรือโถส้วม โดยเมื่อกดน้ำแล้ว น้ำที่ใช้ชำระไหลได้คล่อง สะดวก หากมีฟองอากาศผุดขึ้นมาก็แสดงว่าท่ออากาศของส้วมอาจมีปัญหา นอกจากนี้ให้ลองเปิดฝาถังน้ำออกดูเพื่อตรวจสอบระบบลูกลอยว่าทำงานปกติหรือไม่ โดยเมื่อน้ำเต็มถังลูกลอยจะลอยตัวขึ้นและปิดวาล์วน้ำที่จะเข้าถังเก็บน้ำได้สนิทหรือไม่ โดยน้ำในถังไม่ควรเกินช่องระบายน้ำล้นของระบบ และไม่มีเสียงน้ำไหลเข้าระบบอีก น้ำยังไหลเข้าระบบให้แจ้งทางโครงการเพื่อทำการแก้ไขหรือติดตั้งชักโครกหรือโถส้วมใหม่

ไอเดียแต่งบ้าน